ลิ้นมังกร ไม้ประดับ ไม้มงคล และหนึ่งในต้นไม้ช่วยฟอกอากาศ จากงานวิจัยขององค์การนาซ่า (NASA CLEAN AIR STUDY)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sansevieria trifasciata Prain
ชื่อสามัญ Mother-in-laws
Tongue, Snake plant, Saint George's sword
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ว่านจะเข้
(เชียงใหม่) ; ว่านประหลาด (แพร่) ;
กะสี่กือซอ, ปองื่อซอ, ปอมือปลา,
เป้าสะม่าเพล (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; ลิ้นนาคราช, ลิ้นมังกร (กรุงเทพฯ) ; ว่านหางเสือ (ทั่วไป)
ลิ้นมังกร คนไทยโบราณถือเป็นไม้มงคล และเชื่อว่า ถ้าปลูกต้นลิ้นมังกรไว้บริเวณบ้าน
จะช่วยป้องกันอันตรายจากภายนอกได้ และลิ้นมังกรยังช่วยดูดซับสารพิษและฟอกอากาศในบ้านได้อีกด้วย เป็นต้นไม้ที่คายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยออกซิเจนในช่วงเวลากลางคืน
สามารถวางไว้ในห้องนอนได้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปใบเรียวแหลมคล้ายหอก
ขอบใบเรียบ โคนใบสอบเรียว แผ่นใบหนาแข็งแรง มีสีเขียว
มีลายขวางคล้ายลายเสือคล้ำออกดำ หรือบางชนิดมีสีเขียวลายขาว เขียวอมเหลือง
หรือเขียวอมด่างเหลือง มีทั้งใบยาว ใบสั้น ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์
ลักษณะใบก็จะแตกต่างกัน
ลำต้น เป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน บางชนิดมีลำต้นหรือเหง้าเป็นแท่งกลมแตกแขนงออกเป็นแง่งหลายแง่ง
บางชนิดมีลำต้นเป็นหัวกลม ซึ่งหัวหรือเหง้าจะแทงใบออกเป็นใบเดี่ยวชูขึ้นเหนือดิน ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี
ดอก ออกดอกเป็นช่อ
โดย 1 ช่อ มีดอกจำนวนมากกระจายออกแบบช่อซี่ร่ม
ไม่มีใบประดับรองรับ มีกลีบดอก 5 ดอก สีขาวหรือเขียวอ่อน
ผล จะมีลักษณะกลมโต
เท่าเมล็ดข้าวโพด เมื่อผลสุกจะเป็นสีแดง
การปลูกและขยายพันธุ์
ลิ้นมังกรเป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีทั้งในที่ร่มและที่กลางแจ้ง
ควรปลูกในดินร่วน ขยายพันธุ์ด้วยการแยกกอและตัดชำใบ
รสและสรรพคุณในตำรายา
ใบ มีรสเย็น
เป็นยาถอนพิษอักเสบ ปวดบวม แก้พิษตะขาบ แมงป่อง ถอนพิษต่างๆ
โดยการโขลกแล้วพอกบาดแผล ซึ่งถือว่ามีสรรพคุณในการถอนพิษได้ดี
วิธีและปริมาณที่ใช้
ถอนพิษต่างๆ โดยใช้ใบสดประมาณ
50-70 กรัม มาหั่นแล้วโขลกให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาวพอประมาณ พอกบาดแผลหรือบริเวณที่โดนพิษ
เอกสารอ้างอิง
1.โชตินันต์และคณะ. (2556). รักษาโรคด้วยสมุนไพรใกล้ตัว. พิมพ์ครั้งที่
3. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ส.เอเชียเพรส(1989)
จำกัด.
เข้าถึงเมื่อ 27 เมษายน 2563
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น