ชะเอมเทศ (Licorice)
ในปัจจุบันผู้ที่ผิวหมองคล้ำหรือมีปัญหาเรื่องจุดด่างดำ ฝ้า กระต่างๆ จะต้องมองหาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผิวขาวใสซึ่งหลายๆท่านคิดว่าต้องใช้สารเคมีเท่านั้นผิวจึงจะขาวขึ้น
วันนี้เรามารู้จักสารจากพืชธรรมชาติที่จะช่วยแก้ไขปัญหาผิวหมองคล้ำกันดีกว่าซึ่งก็คือ “ชะเอมเทศ” นั่นเอง สำหรับใครที่เคยทานยาอมสมุนไพรแก้เจ็บคอคงจะคุ้นเคยกับชะเอมเทศเป็นอย่างดีนั่นก็เพราะชะเอมเทศเป็นสมุนไพรที่มีรสหวานชุ่มคอ จึงมักจะนิยมใช้ในสูตรยาอมแก้เจ็บคอแต่ชะเอมเทศไม่ได้มีประโยชน์แค่นั้นนะคะ ในเรื่องความสวยงามโดยเฉพาะความขาวกระจ่างใสชะเอมเทศช่วยได้ค่ะ
ประโยชน์ทางสุขภาพและความงาม
1. ช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใสอย่างเป็นธรรมชาติ
ในวงการความสวยงามชะเอมเทศโดดเด่นในเรื่องให้ความขาวกระจ่างใสกับผิว เนื่องจากมีสารสำคัญหลายตัว เช่น Glycyrrhizin, Glycyrrhetinic acid, Glabridin และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์อื่นๆ ซึ่งสารกลุ่มนี้มีสรรพคุณลดการสร้างเม็ดสีเมลานินโดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) จึงช่วยให้ผิวมีความขาวกระจ่างใสมากขึ้น ช่วยลดเลือนจุดด่างดำ การเกิดฝ้า กระ และผิวหมองคล้ำได้เป็นอย่างดีโดยสารกลุ่มนี้จะพบมากในส่วนรากของชะเอมเทศ
ตามปกติผิวหนังของคนเราจะมีสีผิวที่แตกต่างกันตามลักษณะของเชื้อชาติและกรรมพันธุ์แต่สีผิวของเราก็สามารถเปลี่ยนเป็นสีที่เข้มขึ้นได้ โดยเกิดจากปัจจัยภายนอกอื่นๆเป็นตัวกระตุ้น เช่น แสงแดด รังสีอัลตร้าไวโอเลตหรือรังสียูวี การที่สีผิวของเราเข้มขึ้นนั้นเกิดจากเม็ดสีเมลานินถูกสร้างเพิ่มมากขึ้น โดยกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานินเรียกว่า กระบวนการเมลาโนจีเนซิส (Melanogenesis) มีเซลล์เมลาโนไซต์เป็นตัวสร้างเม็ดสีเมลานินและมีเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาซึ่งหากเอนไซม์ไทโรซิเนสทำงานมากก็จะส่งผลให้สีผิวของเราเข้มขึ้นรวมถึงเกิดความผิดปกติทางผิวหนัง เช่น จุดด่างดำ ฝ้า กระ เป็นต้น ในวงการเครื่องสำอางจึงต้องมองหาสารที่ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสเพื่อให้ผิวคงความกระจ่างใสอยู่เสมอ ซึ่งสารที่ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสนั้น มีทั้งเป็นสารเคมีและสารที่สกัดมาจากพืชธรรมชาติและจากงานวิจัยพบว่าสารสกัดจากชะเอมเทศนั้นสามารถช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสได้เป็นอย่างดีจึงช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใส ลดเลือนฝ้า กระ และจุดด่างดำได้อย่างตรงจุด
สำหรับการนำสารสกัดชะเอมเทศมาใช้ในการผลิตเครื่องสำอางนั้นจะต้องนำรากของชะเอมเทศมาผ่านกรรมวิธีการสกัดด้วยตัวทำละลาย (solvent extraction) ให้ออกมาเป็นสารสกัดเข้มข้นที่เรียกว่า Licorice extract จากนั้นจึงนำสารสกัดที่ได้มาผสมในสูตรสินค้าเพื่อผลิตออกมาจำหน่ายในรูปแบบของครีมลดเลือนฝ้า กระ หรือโลชั่นเพื่อผิวขาวตามที่เราพบเห็นในท้องตลาดทั่วไปซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไปตามความเข้มข้นของสารสกัดที่ใช้ในแต่ละยี่ห้อ แต่สำหรับใครที่ยังไม่ต้องการซื้อเครื่องสำอางสำเร็จรูปมาใช้เราก็มีสูตรพอกผิวแบบง่ายๆมาแนะนำนะคะ
สูตรผิวกระจ่างใสด้วยมาส์กชะเอมเทศ
ส่วนผสม
- ผงชะเอมเทศ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายสมุนไพรทั่วไปแต่ต้องเป็นส่วนของรากนะคะ
- น้ำสะอาด
วิธีทำ นำผงชะเอมเทศ 1-2 ช้อนโต๊ะ ค่อยๆเติมน้ำและคนให้เข้ากันโดยให้มีความข้นพอเหมาะที่จะพอกผิวหน้าได้ สามารถปรับปริมาณของผงชะเอมเทศและน้ำได้ตามความชอบ จากนั้นนำมาพอกที่หน้าทิ้งไว้ 3-5 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ทำเป็นประจำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งจะช่วยให้ผิวกระจ่างใสขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ สามารถใช้ได้ทั้งผิวหน้าและผิวกาย
คำแนะนำ สำหรับสูตรที่แนะนำในเบื้องต้นเป็นการใช้วัตถุดิบธรรมชาติไม่ได้ผ่านการสกัดให้มีความเข้มข้นสูงดังนั้นผลลัพธ์หลังการใช้งานผิวจะค่อยๆกระจ่างใสซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละบุคคลแต่รับรองว่าปลอดภัยไร้สารเคมีแน่นอน
2. ชงดื่มเป็นชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ
รากของชะเอมเทศมีกลิ่นหอมอ่อนๆ รสหวานออกขมเล็กน้อย นิยมนำรากชะเอมเทศแห้งมาชงดื่มเป็นชาสมุนไพรช่วยให้ชุ่มคอ ขับเสมหะและยังช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจให้แช่มชื่น
3. ประโยชน์ทางยา
ส่วนของเนื้อในรากของชะเอมเทศมีสีเหลืองอ่อน ผิวเรียบเป็นเส้นใย รสหวานชุ่ม ออกขมเล็กน้อย มีกลิ่นหอมอ่อนๆ นิยมใช้เป็นตัวยาในตำรับยาแก้ไอ ช่วยให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ แก้คอแห้ง รวมถึงใช้ผสมในตำรับยาที่ช่วยบำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย นอกจากนี้ชะเอมเทศยังนิยมใช้เป็นตัวยาชูรส ชูกลิ่นและแต่งสีเนื่องจากสามารถช่วยแต่งกลิ่นแต่งรสสำหรับยาที่มีรสขมรับประทานยากให้รับประทานได้ง่ายยิ่งขึ้น ตำรับยาสมุนไพรที่มีชะเอมเทศเป็นส่วนประกอบหลักคือ ยาอำมฤควาที ประกอบด้วย โกฐพุงปลา เทียนขาว ลูกผักชีลา เนื้อลูกมะขามป้อม เนื้อลูกสมอพิเภก หนักสิ่งละ 1 ส่วน ชะเอมเทศหนัก 5 ส่วน จัดอยู่ในยารักษากลุ่มทางเดินหายใจ บรรเทาอาการไอและขับเสมหะ มีลักษณะทั้งในรูปแบบผงและแบบลูกกลอน
ข้อควรระวังในการใช้รากชะเอมเทศ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงไม่ควรใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของรากชะเอมเทศในปริมาณสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเพราะจะทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำจนเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขึ้นได้
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ชะเอมเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaicrudedrug.com [09 ต.ค. 2020].
- บัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. “ยาอัมฤควาที”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.pharmacy.su.ac.th [17 ธ.ค. 2020].
- ปองทิพย์ สิทธิสาร, วีณา นุกูลการ. ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สมุนไพรแก้ไอ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www. pharmacy.mahidol.ac.th [17 ธ.ค. 2020].
- มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2558). เอกสารการสอนชุดวิชาเภสัชกรรมแผนไทย 2. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
- เวสารัช เวสสโกวิท. “แสงแดดกับเม็ดสี”. สถาบันโรคผิวหนัง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www. http://inderm.go.th [15 ธ.ค. 2020].
- Alonso, J. Tratado de Fitofármacos y Nutracéuticos. Barcelona: Corpus, 2004, p: 905-911 (633.8 ALO)
- Bruneton J. Farmacognosia. Zaragoza: Ed. Acribia, 2001; p: 681-686 (651*1 BRU).
- Council of Europe. Plants preparations used as ingredients of cosmetic products. Strasbourg Cedex: Council of Europe Publishing, 1994; p: 154-157 (61*8 PAT).
- N. Radhakrishnan, M. Phil, A. Gnanamani, Ph.D., S. Sadulla, Ph.D. EFFECT OF LICORICE (Glycyhrriza glabra Linn.) A SKIN-WHITENING AGENT ON BLACK MOLLY (Poecilia latipinnaa). J. Appl. Cosmetol. 23, 749-758 (October/December 2005).
- Phawothai Phasanasophon, M.Sc. (Physiology). (2015). Journal of Phrapokklao Nursing College Vol.27 No.1 September 2015 - February 2016.
- Praphaiphit Insain, Inhibition of Melanogenesis from Thai Berries. EAU Heritage Journal Science and Technology. Vol. 12 No. 2 May-August 2018.
- Saeedi M, Morteza-Semnani, Ghoreishi MR. The treatment of atopic dermatitis with licorice gel. J of Dermatological Treatment, 2003; 14: 153-157.
- Wenyuan Zhu and Jie Gao. (2008). The Use of Botanical Extracts as Topical Skin-Lightening Agents for the Improvement of Skin Pigmentation Disorders, Journal of Investigative Dermatology Symposium Proceedings. Volume 13.
- Zuidhoff H.W. & van Rijsbergen J.M. Whitening Efficacy of Frequently Used Whitenning Ingredients. C&T, 2001; 116(1): 53-59 (ref. 4333).
- รูปจาก www.freepik.com , www.pixabay.com. Accessed October 9,2020.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น